สำนักงานจังหวัด เป็นหน่วยงานบริหารราชการส่วนภูมิภาค ดำเนินการเป็นศูนย์กลางในการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัด เช่นเดียวกับสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของการบริหาร ราชการของกระทรวงมหาดไทยในส่วนกลางสำนักงานจังหวัด

สำนักงานจังหวัด ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พุทธศักราช 2495 ลักษณะ 1 ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค หมวด 2 จังหวัด มาตรา 38 ให้แบ่งส่วนราชการของจังหวัดเป็น (1) สำนักงานจังหวัด และ (2) ส่วนต่างๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ได้ตั้งขึ้น โดย สำนักงานจังหวัด มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของจังหวัดนั้น มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบ

ต่อมาในปี พ.ศ.2503 ได้มีพระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการสำนักเลขานุการรัฐมนตรี และสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย มาตรา 5 ให้ สำนักงานจังหวัด เป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสำนักงานจังหวัดจะมีปรากฏชื่ออยู่ตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัตสำนักงานจังหวัดยังไม่เคยได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยมีเจ้าหน้าที่ของตนเองไปประจำปฏิบัติงานอยู่เลย คงมีแต่เฉพาะตัวผู้ว่าราชการจังหวัดเพียงท่านเดียว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะในระยะแรกๆ งานของสำนักงานจังหวัดมีปริมาณไม่มากนัก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายให้แผนกปกครองจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแทน

ต่อมาเมื่องานด้านต่างๆ ของจังหวัดมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งสำนักงานจังหวัด โดยมีเจ้าหน้าที่ของตนเองประจำปฏิบัติงานอยู่อย่างแท้จริง เพื่อช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัดในการปฏิบัติงานตามภารกิจหน้าที่และความรับผิดชอบซึ่งมีอยู่อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติให้บังเกิดผลแก่ประชาชนในท้องที่ และรัฐบาลได้มีนโยบายที่จะพัฒนาการบริหารราชการที่จะให้หน่วยงานของทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่มีหน่วยงานในจังหวัดได้ขึ้นตรงหรือรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสำนักงานจังหวัดจึงต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและเป็นศูนย์กลางในการประสานแผนและโครงการของทุกกระทรวง ทบวง กรมในจังหวัด ในปี พ.ศ. 2516 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2516 กำหนดให้มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นในสำนักงานจังหวัด จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ ชลบุรี สงขลา และยะลา  ต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2518 กำหนดให้ขยายการจัดอัตรากำลังเพิ่มขึ้นใน ปี พ.ศ. 2518 จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี นราธิวาส ลพบุรี สระบุรี นนทบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี สมุทรปราการ สุโขทัย พิจิตร นครปฐม และชุมพร ในปี พ.ศ. 2519 ได้ขยายเพิ่มขึ้นจำนวน 49 จังหวัด จนครบทุกจังหวัด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 60 ให้แบ่งส่วนราชการของจังหวัด เป็น (1) สำนักงานจังหวัด และ (2) ส่วนต่าง ๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ได้ตั้งขึ้น โดยสำนักงานจังหวัดมีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปและการวางแผนพัฒนาจังหวัดของจังหวัดนั้น มีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานจังหวัด และพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2535 กำหนดให้ สำนักงานจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ ดำเนินการและประสานงานเกี่ยวกับราชการทั่วไปในจังหวัดและการวางแผนพัฒนาจังหวัด และปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย สะท้อนให้เห็นความมุ่งหมายที่จะกำหนดสถานภาพของสำนักงานจังหวัด ให้เป็นหน่วยงานของจังหวัด มิใช่หน่วยงานของผู้ว่าราชการจังหวัดเช่นแต่ก่อน