วันที่ 13 มิถุนายน 2567 เวลา 10.00 น. นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานเปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ ฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 3 โดยมีนายนพดล ผุดผ่อง เกษตรจังหวัดยโสธร นายภาคภูมิ นิยมวิทยพันธุ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดยโสธร นายวรเทพ ทองน้อย นายอำเภอเลิงนกทา หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ประชาชนและสื่อมวลชนร่วมงาน ณ เทศบาลตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ ฯ เป็นโครงการเนื่องในวโรกาสอันเป็นมิ่งมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระชนมายุครบ 50 พรรษา ในพุทธศักราช 2545 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการไว้ในพระราชานุเคราะห์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่เกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการผลิตที่รวดเร็ว ทั่วถึง ครบถ้วน และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร ซึ่งมีการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่าง หน่วยงานวิชาการ หน่วยงานส่งเสริม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพัฒนา แก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกร ให้สามารถทำการผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยเป็นการปฏิบัติงานในเชิงรุกที่ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายที่มีปัญหา ได้รับบริการทางการเกษตร เช่น การวิเคราะห์ดิน การวินิจฉัยโรคพืช โรคสัตว์ โรคสัตว์น้ำ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมความรู้การเกษตรเสริมเพิ่มเติมควบคู่กันไปด้วย โดยให้ทุกจังหวัดดำเนินโครงการฯ อย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง
สำหรับจังหวัดยโสธร ได้จัดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ ฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 3 ขึ้นในวันนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และเชิญชวนให้เกษตรกร ประชาชนผู้สนใจ ผู้ประกอบการและภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดยโสธร ตามวิสัยทัศน์ “ยโสธรเมืองเกษตรอินทรีย์ เมืองแห่งวิถีอีสาน” ภายในงานมีการให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ได้แก่ คลินิกดิน คลินิกพืช คลินิกข้าว คลินิกปศุสัตว์ คลินิกประมง คลินิกชลประทาน คลินิกสหกรณ์ คลินิกบัญชี คลินิกกฎหมาย คลินิกหม่อนไหม คลินิกส่งเสริมการเกษตร คลินิกอื่น ๆ เช่น คลินิกสาธารณสุข คลินิกเกษตรและสหกรณ์ คลินิกยางพารา คลินิกเศรษฐกิจการเกษตร คลินิกฝนหลวง พร้อมจัดกิจกรรมเสริมได้แก่ การเสริมสร้างความรู้ นิทรรศการตามความต้องการของเกษตรกร รวมทั้งกิจกรรมออกร้านจำหน่ายสินค้าแปรรูป สินค้าเกษตรจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และภาคเอกชน โดยมีเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเลิงนกทา และอำเภอใกล้เคียง มารับบริการร่วมงาน จำนวน 200 คน