วันนี้ ( 18 ก.พ.68) เวลา 09.00 น. นายสันชัย พัฒนะวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดยโสธร ครั้งที่ 1/2568 ที่ ห้องยศสุนทร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดยโสธร โดยมี นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตลอดจนหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
โดยที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรดำเนินการในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และจังหวัดยโสธร ครอบคลุม 13 อำเภอ มาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีกลไกการดำเนินงานเชิงพื้นที่ มีระบบการสร้างพี่เลี้ยง การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการปรับและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อยกระดับภาคการเกษตร และมีความช่วยเหลือจากภาคเอกชนในการใช้กลไกตลาดนำการผลิต ซึ่งเป็นการยกระดับและสร้างระบบเศรษฐกิจภาคการเกษตรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ยกระดับคนในชุมชนให้มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ทำให้เกิดการยกระดับตลอดห่วงโซ่การผลิต มีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐาน ลดต้นทุน สร้างรายได้ ตอบโจทย์ตามนโยบายของรัฐบาลและแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ โดยเตรียมขับเคลื่อน 2 แผนงานหลัก ได้แก่ การยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารมูลค่าสูงตลอดห่วงโซ่ ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมใช้งานไปถ่ายทอดให้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย เช่น การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงและต้านทานโรค การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี การใช้แอพพลิเคชั่นไลน์บอทวินิจฉัยโรคข้าว แอพพลิเคชั่น DAPbot ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจำแนกศัตรูพืช การเข้าถึงและการใช้ชีวพันธุ์การเกษตร ตลอดจน Smart NPK ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการแนะนำการใช้ปุ๋ยให้กับเกษตรกรแบบครบวงจรและอีกแผนงานคือการขับเคลื่อนในเรื่องของการท่องเที่ยวคุณภาพสูงบนฐานทรัพยากรประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ผลักดันด้านการท่องเที่ยว ให้ได้มาตรฐานภายใต้การขับเคลื่อน โดยใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในพื้นที่ ให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ก้าวพ้นความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยเน้นการบริหารจัดการท่องเที่ยวด้วยดิจิทัล พัฒนาและส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวศักยภาพสูง ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ พัฒนาสินค้า และบริการรูปแบบที่สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยว ค้นหาอัตลักษณ์ท้องถิ่นนำมาเป็นจุดขาย และสนับสนุนให้เกิดการขึ้นทะเบียนสินค้า GI โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาส่งเสริมการบริการในพื้นที่สร้างการท่องเที่ยวที่เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดยโสธร