วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. นายสุวัฒน์ เข็มเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สดถวายราชสักการะและกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2566 โดยมี นายไกร เอี่ยมจุฬา รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร พร้อมด้วย นางวิชชุฎา เข็มเพชร รักษาการนายกเหล่ากาชาดจังหวัดยโสธร รักษาการประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดยโสธร หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธี ณ หอประชุมจังหวัดยโสธร ศาลากลางจังหวัดยโสธร จากนั้นได้เยี่ยมชมนิทรรศการ “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่บริเวณอาคารโดมเอนกประสงค์ หน้าหอประชุมจังหวัดยโสธร

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งฝนหลวง” และกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 เป็นวันที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการบังคับเมฆให้เกิดเป็นฝน จนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวง ปัดเป่าความทุกข์ยากให้แก่พสกนิกรที่ประสบภัยแล้ง และเป็นองค์ประกอบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศจวบจนปัจจุบัน

ด้วยพระปรีชาสามารถ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง จึงก้าวหน้า อย่างรวดเร็ว จนทรงสามารถสรุปขั้นตอนกรรมวิธีการดัดแปลงสภาพอากาศ ให้เกิดฝน คือ ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน และโจมตี พระราชทานให้ใช้เป็นเทคโนโลยี ในการปฏิบัติการฝนหลวงแบบหวังผลตั้งแต่ พ.ศ.2516 เป็นต้นมา พร้อมนี้ พระองค์ยังทรงพัฒนาเทคนิค ที่จะเสริมให้การปฏิบัติการในแต่ ละขั้นตอน ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศ ประจำวัน และฤดู กาลของแต่ละพื้นที่และให้สอดคล้องกับทรัพยากรสนับสนุนของแต่ละคณะปฏิบัติการ เช่น เทคนิคที่โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “เทคนิคการโจมตี เมฆอุ่นแบบ SANDWICH” เทคนิคการชักนำกลุ่มเมฆฝนจากเทือกเขาสู่ที่ราบ การชักนำ ฝนจากพื้นที่ที่ไม่ต้องการฝนไปยังพื้นที่ที่ต้องการ เทคนิคการใช้สารเคมี แบบสูตรสลับกลุ่มเมฆที่ก่อตัวในหุบเขาให้เกิดฝน เป็นต้น

ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.2542 ได้เกิดสภาวะแห้งแล้งรุนแรง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดส่งคณะปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ.2542 ในการปฏิบัติการ ได้พระราชทานข้อแนะนำทางเทคนิค เพิ่มเติม รวมทั้งทรงพัฒนาเทคนิคการโจมตี และโปรดเกล้าฯให้เรียกว่า “เทคนิคการโจมตี แบบ SUPER SANDWICH” อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พระราชทาน ให้ใช้เป็น เทคโนโลยี ฝนหลวงล่าสุด จึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงให้ก้าวหน้า ยิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่งและพระราชทานให้ใช้เป็น“ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน….///

#ข่าวสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดยโสธร /14 พ.ย. 66