วันที่ 29 ตุลาคม 2566 เวลา 05.00 น. นายสุวัฒน์ เข็มเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมการออกกำลังกาย ตามโครงการ “แสงนำใจ ไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 9 เฉลิมพระเกียรติ” จังหวัดยโสธร โดยมี นายบรรลือ สัมฤทธิ์จินตนา ปลัดจังหวัดยโสธร นางจันทรพรรณ สัมฤทธิ์จินตนา รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดยโสธร /รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดยโสธร นายยุทธนา สุริยะ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่จากส่วนราชการ ภาคเอกชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เยาวชน และประชาชนชาวยโสธร เข้าร่วมในพิธี ณ วิมานพญาแถน จุดแลนด์มาร์คจังหวัดยโสธร

ซึ่งกิจกรรมการออกกำลังกายเดิน วิ่ง ปั่น ภายใต้ โครงการ “แสงนำใจ ไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 9 เฉลิมพระเกียรติ ” จังหวัดยโสธร ประจำปี พ.ศ. 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงเป็นดั่งแสงนำใจของประชาชนไทย และทรงเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการรักษาสุขภาพ และการออกกำลังกาย โดยประชาชนชาวยโสธรสมัครเข้าร่วมกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่น จำนวนถึง 4,017 คน และมีการอบอุ่นร่างกายก่อนเดินวิ่ง อีกทั้งจังหวัดยโสธรได้จัดทีมพยาบาลพร้อมด้วยทีมแพทย์และพยาบาลคอยดูแลผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ พร้อมน้ำดื่มบริการกระจายอยู่ทุกระยะเพื่อความปลอดภัยอย่างดีที่สุด

โดย สถานการณ์โรคหลอดเลือดสมอง จังหวัดยโสธร ข้อมูลปี 2566 จังหวัดยโสธร มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ยังมีชีวิตอยู่ จำนวน 11,852 ราย พบอัตราป่วยที่สูงที่สุดที่อำเภอเมืองยโสธร ทรายมูล และป่าติ้ว เสียชีวิต 690 คน พบอัตราตายสูงสุดที่อำเภอเมืองยโสธร มหาชนะชัย และอำเภอค้อวัง มีกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดโรคหลอดเลือดสมองคือ ผู้ป่วยเบาหวาน 32,389 ราย ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 49,627ราย กลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง 44,799 ราย รวมทั้งสิ้น 126,815 ราย ในช่วงระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2564 -2566) พบประชาชนป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เพิ่มสูงขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความพิการและเสียชีวิต ซึ่งช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้น จังหวัดยโสธร พบผู้ป่วยมีการเสียชีวิตน้อยลง แต่ยังพบผู้ป่วยที่มีความผิดปกติ หลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วค่อนข้างมาก สาเหตุสำคัญของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้เกิดการพิการหรือเสียชีวิต คือ การเข้ารับการรักษาล่าช้า ซึ่งเมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการจะต้องเข้ารับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและได้รับยาภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาที จังหวัดยโสธรมีแพทย์เฉพาะทางและมีหน่วยดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นการเฉพาะ (Stroke Unit) ที่ให้การดูแลอยู่ที่โรงพยาบาลยโสธร และโรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอพร้อมดูแลและส่งต่อบริการ เมื่อผู้ป่วยตรวจพบความผิดปกติของหลอดเลือดสมองจากการทำ CT Scan (เอ็กซเรย์สมอง) ผู้ป่วยจะได้รับยาทันที เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความพิการและเสียชีวิต และจังหวัดยโสธร มีการรณรงค์สร้างกระแสสื่อสารเตือนภัยลดเสี่ยง ลดโรคหลอดเลือดสมอง โดยกำหนดให้เดือน ตุลาคม เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ และประเมินความเสี่ยง “รู้ตน ลดเสี่ยง” และให้ความรู้โรคหลอดเลือดสมอง หากมีความเสี่ยงรับบริการลดเสี่ยงในหน่วยบริการสาธารณสุขได้ทุกแห่ง แบบ“รู้ เร็ว รอด” หรือ โทร. สายด่วน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง …///

****

#สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดยโสธร / ข่าว