10 กรกฎาคม 2567 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอค้อวัง นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานเปิดคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อให้บริการเกษตรกรที่มีปัญหาด้านการเกษตรในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงการบริการทางด้านวิชาการ เกษตรกรได้รับการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างครบวงจรในคราวเดียวกัน ประกอบด้วย คลินิกดิน คลินิกพืช คลินิกข้าว คลินิกปศุสัตว์ คลินิกประมง คลินิกชลประทาน คลินิกสหกรณ์ คลินิกบัญชี คลินิกหม่อนไหม คลินิกกฎหมาย คลินิกส่งเสริมการเกษตร คลินิกยางพารา คลินิกสาธารณสุข คลินิกเศรษฐกิจการเกษตร คลินิกฝนหลวง พร้อมจัดกิจกรรมเสริมได้แก่ การเสริมสร้างความรู้ นิทรรศการตามความต้องการของเกษตรกร รวมทั้งกิจกรรมออกร้านจำหน่ายสินค้าแปรรูป สินค้าเกษตรจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และภาคเอกชน
โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำเภอค้อวัง หัวหน้าส่วนราชการที่มาออกหน่วยบริการประชาชน ทั้งส่วนราชการระดับจังหวัด ส่วนราชการอำเเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน มาออกให้บริการประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยมีพี่น้องเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่อำเภอค้อวัง และอำเภอใกล้เคียง ได้มารับบริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอค้อวัง และพื้นที่โดยรอบอย่างคับคั่ง
โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ ฯ เป็นโครงการเนื่องในวโรกาสอันเป็น
มิ่งมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระชนมายุครบ 50 พรรษา ในพุทธศักราช 2545 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการไว้ในพระราชานุเคราะห์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่เกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการผลิตที่รวดเร็ว ทั่วถึง ครบถ้วน และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร ซึ่งมีการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่าง หน่วยงานวิชาการ หน่วยงานส่งเสริม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพัฒนา แก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกร ให้สามารถทำการผลิตทางการเกษตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยเป็นการปฏิบัติงานในเชิงรุก ที่ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายที่มีปัญหา ได้รับบริการทางการเกษตร เช่น การวิเคราะห์ดิน การวินิจฉัยโรคพืช โรคสัตว์ โรคสัตว์น้ำ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี และฝึกอบรมความรู้การเกษตรเสริมเพิ่มเติมควบคู่กันไปด้วย