วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่หอประชุมรักษ์พะยอม วิทยาลัยเทคนิคยโสธร จังหวัดยโสธร นายชาญชัย ศรศรีวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Yasothon Zero Dropout) และร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับนางนันทพร ศรศรีวิชัย นายกเหล่ากาชาดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดยโสธร นายสันชัย พัฒนะวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร นางสาวพัชลี เชาว์พลกรัง ศึกษาธิการจังหวัดยโสธร พลตำรวจตรี ภิรมย์ สวนทอง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยโสธร ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานต่าง ๆ ของจังหวัดยโสธร รวมทั้งสิ้น 36 ฝ่าย ในการช่วยกันติดตาม ดูแล ช่วยเหลือ และส่งต่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาของจังหวัดยโสธร ให้ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ที่อย่างน้อยจะต้องจบการศึกษาภาคบังคับ หรือได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงการฝึกอบรมอาชีพและพัฒนาฝีมือเพื่อให้มีงานทำ

โดยข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย พบว่าในปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมา มีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3-18 ปี กว่า 1.02 ล้านคน ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา และจังหวัดยโสธรมีจำนวน 3,662 คน ดังนั้นทั้ง 36 ฝ่ายจึงจะได้ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ ซึ่งในโอกาสนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ยังได้มอบแนวนโยบายในการขับเคลื่อน ที่อยากให้ทุกฝ่ายได้ช่วยกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในทุก ๆ ส่วน ทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาการศึกษาของจังหวัดยโสธร เพราะจากข้อมูลจะเห็นว่าเด็กและเยาวชนที่หลุดระบบการศึกษาจังหวัดยโสธร เมื่อคิดเฉลี่ยง่าย ๆ จะมีถึง 80 คนต่อตำบล หรือ 3 คนต่อหมู่บ้าน ดังนั้นทุกคนต้องเข้าใจสถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างทุกวันนี้ที่เห็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย มีการขอค่าแรงที่สูงกว่าคนไทยเนื่องจากมองว่ามีศักยภาพที่สูงกว่า โดยทั้งหมดล้วนเริ่มจากพื้นฐานชีวิต เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายจึงจำเป็นที่จะต้องช่วยกันเร่งพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อลูกหลานคนยโสธรที่น่ารัก ซึ่งเมื่อมีคุณภาพชีวิตสูงขึ้น ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็จะส่งผลให้ลูก ๆ หลาน ๆ ชาวยโสธรได้เข้าสู่ระบบการศึกษาแบบสมบูรณ์ ครบถ้วน และตามมาด้วยการมีทักษะ ความสามารถ มีศักยภาพที่สูง กลายเป็นผู้ที่สามารถสร้างรายได้ที่สูงมากขึ้น ชีวิตครอบครัวมีความสุขมากขึ้น และมีเรื่องดี ๆ อื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย โดยจากข้อมูลการรายงานของศึกษาธิการจังหวัดยโสธร ขณะนี้มีการติดตามเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาครบถ้วนหมดแล้ว แบ่งเป็นระดับการศึกษาก่อนประถมศึกษา 988 คน ระดับประถมศึกษา 552 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 407 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/อาชีวศึกษา/กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) 1,715 คน จากนี้จะเป็นการดูแล ช่วยเหลือ และส่งต่อ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาต่อไป

#สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดยโสธร / ข่าว