วันที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 09.30 น. นายสุวัฒน์ เข็มเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานเปิดโครงการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จังหวัดยโสธร ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด จังหวัดยโสธร โดยมี นายวิชัย ส่งเสริม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยโสธร พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคส่วนธุรกิจเอกชน ภาคส่วนองค์กรชุมชน ภาคส่วนประชาชน อาทิ เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน เครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สถานบันศึกษาและ สื่อมวลชน ร่วมงาน ณ ห้องประชุมอมราวดี 1 โรงแรม เดอะ กรีนปาร์ค แกรนด์ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร
ทั้งนี้ จังหวัดยโสธร ได้ดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของจังหวัดยโสธรอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ YASO Low Carbon ที่เข้าสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต โครงการ คัด แยก แลกบุญ ที่ได้รับการรับรอง LESS จากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก องค์การมหาชน โครงการ การพัฒนาศักยภาพสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด จังหวัดยโสธร และได้แต่งตั้งคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด จังหวัดยโสธร โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานคณะทำงาน และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยโสธร เป็นคณะทำงานและเลขานุการ รวมทั้งสิ้น จำนวน 34 คน
สำหรับการจัดโครงการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จังหวัดยโสธร จัดทำขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด จังหวัดยโสธร ในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอและรับฟังความคิดเห็น ผลการศึกษาข้อมูลเพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จังหวัดยโสธร เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ของจังหวัดยโสธร ภายในปี พ.ศ. 2573 อย่างเป็นรูปธรรม และ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ ในการดำเนินกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกต้นแบบ ในจังหวัดยโสธร จำนวน 5 ภาคที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง ภาคการจัดการของเสีย ภาคกระบวนการอุตสาหกรรม และการใช้ผลิตภัณฑ์ ภาคเกษตร ป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน